อึ้งผลสำรวจเด็กไทยพร้อมลอกข้อสอบ-ขี้โกงถ้ามีโอกาส


อึ้ง!! เด็กไทยมีจริยธรรมน้อยลง เด็กเผยยอมโกงเมื่อจำเป็น ขณะเด็กเล็กไม่ยอมจำนนต่อกฎ-กติกา แนะพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี พร้อมติงนโยบายแท็ตเล็ตแจกได้แต่ต้องมีผู้ปกครองดูแล

วันนี้ (21 ก.ย.) รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เครือข่ายการวิจัย สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในการแถลงข่าว การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2552 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ว่า จากการสำรวจสุขภาพเด็กในด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรม โดยการสอบถามตัวอย่างเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านต่างๆ ในกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวนเกือบ 1 หมื่นราย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มวัย 1-5 ปี 2 กลุ่มวัย 6-9 ปี และกลุ่มที่ 3 วัย 10-14 ปี พบว่า เด็กอายุ 1-5 ปียังมีปัญหาเรื่องการทำตัวไม่อยู่ในกติกาและไม่อยู่ในวินัย วัย 6-9 ปี ไม่มีการควบคุมอารมณ์ สมาธิและไร้เมตตา ขณะที่เด็กวัย 10-14 ขาดการวิเคราะห์และหากมีโอกาสโกงก็พร้อมจะโกงได้ ประเด็นดังกล่าวน่าห่วงมาก โดยเด็กยอมรับว่า ยอมรับได้กับการไม่เคารพกติกา เช่น “เล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาส” และ “ลอกข้อสอบถ้าจำเป็น”

รศ.นพ.วิชัย เมื่อเทียบกับผลการสำรวจเมื่อปี 2544 แล้วผลการสำรวจในครั้งนี้มีคะแนนพัฒนาการดีขึ้นหลายด้าน แต่มีประเด็นน่าเป็นห่วงซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของสังคม โดยพบว่า กลุ่มเด็กเล็กช่วงอายุ 1-5 ปีนั้น มีมากกว่าร้อยละ 10 ของกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนต่ำกว่าผลจากการสำรวจปี พ.ศ. 2544 ในด้านการทำตามระเบียบกติกา (Compliance) ในกลุ่มเด็กชาย ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะสะท้อนถึงแนวโน้มที่เด็กอาจมีนิสัยที่ต้องการจะได้อะไรก็ต้องได้ ขาดความพยายาม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวโยงกับความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานของบุคคล ในกลุ่มเด็กอายุ 6-9 ปี พบว่า ผลการทดสอบพัฒนาการด้านสังคม ได้คะแนนสูงกว่าด้านอื่นๆ ส่วนด้านที่ได้คะแนนต่ำคือ ความมีวินัย ความมีสติ-สมาธิ ความอดทนและความประหยัด โดยพัฒนาการด้านที่เด็กได้คะแนนน้อยซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ได้แก่ พัฒนาการด้านความมีวินัยในเด็กชาย การมีสมาธิในเด็กหญิง ด้านความเมตตาและการควบคุมอารมณ์ทั้งเด็กชายและหญิง และสำหรับกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี เห็นว่า “การเล่นขี้โกงเมื่อมีโอกาส” และ “การลอกข้อสอบถ้าจำเป็น” เป็นพฤติกรรมที่เด็กยอมรับได้มากขึ้น ซึ่งในภาพรวมแม้ว่าเด็กจะมีคะแนนดีขึ้น แต่มีหลายด้านที่พบว่าคะแนนการสำรวจยังไม่ดีขึ้นกว่าปี พศ. 2544 ได้แก่ ด้านความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การแก้ปัญหา และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นจุดที่ได้คะแนนค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ส่วนที่ควรพัฒนาในเด็กอายุ 1-5 ปี คือ การทำตามระเบียบกติกา (Compliance) ในเด็ก 6-9 ปี ในเด็กชายและเด็กหญิงควรพัฒนาด้านความเมตตาและการควบคุมอารมณ์ และสำหรับเด็กอายุ 10-14 ปี ควรฝึกการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ รวมทั้งการคิดวิเคราะห์วิจารณ์”

ด้าน รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ นักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เครือข่ายการวิจัย สวรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ควรให้น้ำหนักต่อการพัฒนาเด็กในด้านวุฒิภาวะด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และจริยธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการดำรงชีวิตของบุคคลและเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตยิ่งไปกว่าปัจจัยด้านความฉลาดทางสติปัญญา ซึ่งการศึกษาวิจัยระยะยาวในต่างประเทศ บ่งบอกว่า ระดับเชาวน์ปัญญาหรือ IQ มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตเพียงร้อยละ 20 ในขณะที่พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมร่วมกับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่สมวัยในวัยต้นของชีวิตเป็นรากฐานที่สำคัญของพัฒนาการด้านภาษา ด้านสติปัญญา และด้านจริยธรรมในขั้นต่อๆ ไป และจากศึกษาติดตามระยะยาวจากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ พบว่า ระดับเชาวน์ปัญญาในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในชีวิตการงานและระดับเงินเดือนค่อนข้างน้อย ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมความขัดแย้งและการเข้ากับคนอื่นได้ง่ายกลับมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ผลการสำรวจดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการสำรวจของกรมสุขภาพจิตที่ผ่านมา โดยเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมพัฒนาการเด็กให้มากขึ้น และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็ก คือ พ่อแม่และครู ซึ่งต้องเน้นการเลี้ยงดูและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ทั้งนี้หากอีคิวหรือระดับอารมณ์ของผู้ปกครองไม่ดีก็ส่งผลต่อเด็กเช่นกัน เพราะพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กยังมี

พญ.อัมพรกล่าวด้วยว่า จากการสำรวจครั้งนี้หากโดยงไปถึงนโยบายการแจกแท็บเล็ตแล้ว ควรที่จะมีการวิเคราะห์เชิงลึกถึงไอคิว และอีคิวของผู้ปกครองด้วย เพราะการรับสื่อของเด็กวัย 7 ขวบ นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาคำแนะนำไม่เช่นนั้นการเสพสื่อก็จะเป็นไปแบบล่องลอย โอกาสที่จะรับสื่อที่ไม่เหมาะสมก็มีมาก


Credit http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000120350

0 Response to "อึ้งผลสำรวจเด็กไทยพร้อมลอกข้อสอบ-ขี้โกงถ้ามีโอกาส"

แสดงความคิดเห็น