แอปเปิ้ลเปลี่ยนสี ป้องกันได้!!


... ว่าแล้วตอนช่วงปีใหม่พี่มิ้นท์ก็มีข้อสงสัยที่เกี่ยวกับวิทย์ๆ อยู่อย่างนึงค่ะ คือ เวลาปอกแอปเปิ้ลกินเนี่ย ยังไม่ทันจะได้กินเลย มันก็ดำๆ เหลืองๆ ซะแล้ว น้องๆ รู้มั้ยคะ ว่ามันเป็นเพราะอะไร แล้วจะมีวิธีแก้ปัญหานี้ยังไง พี่มิ้นท์เอาคำตอบมาฝากกันด้วยค่ะ~~

ปกติแอปเปิ้ลจะมีเปลือกสีแดงหุ้มอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วยสารแอนติออกซิเดนท์โพลีฟีนอลหลายชนิด หน้าที่ของมันช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดและอากาศด้านนอกที่จะมีต่อเนื้อแอปเปิ้ล เนื้อแอปเปิ้ลก็เลยดูขาวสะอาด น่ากินตลอดเวลา ดูๆ ไปเปลือกก็คล้าย เกราะคุ้มกันภัยดีๆ นี่เอง


แต่เมื่อใดก็ตามที่เราปอกเปลือกทิ้ง อากาศภายนอกจะได้ลองลิ้มชิมรสกับเอนไซม์และสารที่อยู่ตรงผิวของแอปเปิ้ล จนเกิดเป็นสีน้ำตาลหรือดำอย่างที่เราเห็นเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ปฏิกิริยาสีน้ำตาล
"ปฏิกิริยาสีน้ำตาล" (Enzymatic Browning Reaction) คือ ปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดจากเอนไซม์ในเซลล์ของผักหรือผลไม้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ซึ่งเอนไซม์จะเป็นโปรตีนที่มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมี ผลของมันก็คือ ทำให้เนื้อของผักผลไม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผลไม้ที่เจอกันบ่อยๆ ได้แก่ แอบเปิ้ล สาลี่ กล้วยหอม มังคุด เป็นต้น สังเกตมั้ยว่าส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ที่มีเนื้อสีขาว พอมันกลายเป็นสีน้ำตาล จึงแลดูไม่น่ากิน คล้ายๆ กับช้ำ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่ามันช้ำ แต่ความจริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด
วิธีป้องกันไม่ให้มันดำก็ยังมีอยู่เหมือนกัน คือ เมื่อปอกเสร็จแล้วก็เอาไปแช่น้ำเกลืออ่อนๆ ซึ่งน้ำเกลือจะเป็นตัวตายตัวแทนฉาบเนื้อแอปเปิ้ลเอาไว้ ออกซิเจนก็จะเข้ามาทำปฏิกิริยาสีน้ำตาลไม่ได้ เนื้อแอปเปิ้ลของเราก็จะขาวจั๊วะเหมือนเดิมแล้ว (วิธีนี้เอาไปประยุกต์ใช้กับผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้เหมือนกัน ยกเว้นกล้วย... เอิ่ม คงไม่มีใครปอกกล้วยแล้วกินทีหลังใช่มั้ยอะ O_O )

หรือง่ายๆ ถ้าไม่อยากให้แอปเปิ้ลดำ ก็ปอกแล้วกินทันที หรือ ไม่ต้องปอกเปลือกเลยค่ะ ฮ่าๆ (ไม่ได้กวนประสาทนะ) รู้มั้ยว่าเปลือกแอปเปิ้ลมีประโยชน์มากมายเลย เรียกว่ามีสารอาหารที่สาวๆ ต้องการอยู่เยอะทีเดียว รวมถึงยังช่วยป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย เห็นแบบนี้แล้ว คราวหน้ากินแอปเปิ้ลยังจะปอกเปลือกอยู่อีกมั้ย (ตอบ - ปอกเหมือนเดิม!!!)

0 Response to "แอปเปิ้ลเปลี่ยนสี ป้องกันได้!!"

แสดงความคิดเห็น