“เพตรา” นครศิลาสีกุหลาบ



“เพตรา” มหานครศิลาทรายสีชมพู หรือ Red Road City เมืองมรดกโลกที่แกะสลักขึ้นจากภูเขาทั้งลูก คำว่า"เพตรา"มีความหมายแปลว่า “หิน” ในภาษากรีก เป็นเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจกับการขี่ม้าลัดเลาะไปตามหุบเขาและเดินเท้าเข้าสู่รอยแยกของเปลือกโลก (Siq) ที่ซ่อนความยิ่งใหญ่ตระการตาของมหาวิหารปราสาททรายสีชมพู “เอล คาซเนห์” มานับพันปี...


“จอร์แดน” ถือเป็นประเทศศูนย์กลางแห่งมิตรภาพแห่งตะวันออกกลาง ดินแดนศักดิ์สิทธิ์สถานที่โมเสสเสียชีวิต และแหล่งอารยธรรมหัวเมืองเอกของอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่กว่า 2,000 ปีมาแล้ว
เมืองเพตรา “นครศิลาสีกุหลาบ” เมืองที่ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนและสูญหายไปจากแผนที่นานนับพันปี ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาที่สูงชันประดุจเป็นปราการอันยิ่งใหญ่
เมื่อลัดเลาะไปตามพื้นหินและทรายกว่า 800 เมตร ที่จะมุ่งหน้าไปในเส้นทางมหัศจรรย์ที่ทางเข้าออกของเมืองเพตรา คือ บริเวณซอกเขาเรียกว่า ซิค (Siq) เป็นหุบเขาสูง 250 ฟุต และทอดคดเคี้ยวไปบนเส้นทางที่พาดผ่านเข้าไปถึงใจกลางเมือง เกิดจากการถูกน้ำซัดกัดกร่อนจนเกิดเป็นช่องทางเดินเล็กๆ ระหว่างหุบเขา ความสวยงามของหุบเขาทั้งสองด้าน สวยงามด้วยสีสันของหินสีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ชมร่องรอยซากปรักหักพังที่ยังมีร่องรอยให้เห็นการจัดการเรื่องการชลประทานในการลำเลียงน้ำจากแหล่งน้ำภูเขาเข้าสู่ตัวเมืองได้อย่างน่าทึ่ง และยังมีภาพศิลปะแกะสลักจากภูเขาอีกมากมาย


จากนั้นเข้าเขตหน้าผาสูงชันสองข้างทางสู่มหานครแห่งศิลาทรายสีชมพูตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์ปราสาททรายสีชมพู ที่นี่เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “อินเดียน่า โจนส์” ภาค 3 ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า มหาวิหารแกะสลักเสลาจากภูเขาอย่างกลมกลืนได้สัดส่วนและสวยงามน่าอัศจรรย์เป็นอาคาร 2 ชั้น ประดับ ด้วยเสาแบบคอรินเทียนส์และรูปคน ซึ่งสลักขึ้นจากเขาบริเวณกลางเมือง ว่ากันว่าเป็นคลังที่เก็บสมบัติของฟาโรห์
“เพตรา” เคยเป็นเมืองหลวงของพวก นาเบเธียนมา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ทำเลที่ตั้งของเมืองอยู่กึ่งกลางของเส้นทางการค้าคาบสมุทรอาระเบีย-ลุ่มแม่น้ำไนล์ และปาเลสไตน์-ลุ่ม แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส เลยไปจนถึงอินเดีย จึงทำให้เป็นเมืองศูนย์กลางเส้นทางการค้าทางบกอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ชาวโรมันจึงได้เข้ามายึดครอง จนกระทั่งในปี 363 ได้เกิดแผ่นดินไหวบ้านเรือนภายในเมืองพังทลายลงมาประกอบกับมีการเปิดเส้นทางการค้าทางทะเลที่อ่าวสุเอช ชาวเมืองจึงพากันละทิ้งเมืองไปอยู่ที่อื่น เพตรากลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด


เมื่อเวลาผ่านไป ทรายได้ปลิวมาปกคลุมเมืองทั้งเมือง จนหายไปจากแผนที่นานกว่าพันปี แต่ในที่สุดปี 1813 จอห์น เลวิช เบอร์คฮาร์ดท์ นักเดินทางชาวสวิสได้มาพบนครแห่งนี้ จึงเริ่มปรากฏแก่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เขากำลังสำรวจเส้นทางระหว่างดามัสกัส ไปยังไคโร แต่ดันไปได้ยินเรื่องราวของนครเพตราแล่นเข้าหู ทำให้เบิร์กฮาร์ดต์เกิดแรงบันดาลใจที่จะค้นหานครที่หายสาบสูญนี้ให้ได้ หนุ่มนักสำรวจไฟแรงเริ่มลงมือเรียนภาษาอาหรับ จนพูดได้คล่อง จากนั้นก็ปลอมตัวเป็นชาวอาหรับ เข้าไปคลุกคลีกับชาวเบดูอิน ซึ่งเป็นผู้รู้เส้นทางไปสู่นครเพตราจนในที่สุดชาวเบดูอินใจอ่อนยอมพาเขาเข้าไปสำรวจซากเมืองนี้จากหมู่บ้านเอลจี เบดูอินพาเบิร์กฮาร์ดต์เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ทอดยาวผ่าน วาดี มูสา และเข้าไปอยู่ในวงล้อมของหุบเขา จนเมื่อเห็นเมืองอันกว้างใหญ่อยู่ตรงหน้ามีทั้งความใหญ่โตโอ่อ่าของวิหาร สุสานของเมืองหิน เขาถึงกับตกตะลึง เมื่อมีจังหวะเหมาะเขาจึงแอบสเก็ตช์ภาพของเมืองลับแลแห่งนี้ออกมา เมื่อรูปที่เบิร์กฮาร์ดต์เขียนถึงเพตรา ถูกเผยแพร่ออกไปผู้คนต่างพากันตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจกับความงามแปลกตาน่าฉงนของนครลับแล จากนั้นราวปี 1826 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสอีก 2 คน คือ เคาน์ท ลีออง เดอ ลาบอร์เด และ มัวรีส ลีโนต์ เดินทางเข้าไปสำรวจเพตราอีกครั้งและสเก็ตช์ภาพที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นออกมาเผยแพร่ จากนั้นความงดงามและความอัศจรรย์ของเมืองลับแลที่ชื่อเพตราก็ถูกเปิดเผยสู่โลกปัจจุบันอีกครั้ง และในปี 1985 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 แห่งของโลก

0 Response to "“เพตรา” นครศิลาสีกุหลาบ"

แสดงความคิดเห็น