ปัญหาน้ำท่วมอาจจะไม่ได้เพียงพัดพากระแสน้ำให้เข้าทำลายล้างสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งของให้เกิดความเสียหายเท่านั้น กระแสน้ำและความรุนแรงของธรรมชาติยังคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก นี่ยังไม่รวมถึงพิษภัยจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ ที่ตามมาและที่สำคัญที่เกิดกับสภาวะสุขภาพของประชาชน ภาวะจากความเครียด และการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับน้ำหรือเกิดจากการต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในช่วงน้ำท่วมนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเตือนในการป้องกันโรคติด ต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันไม่ให้ป่วย มี 5 กลุ่ม รวม 15 โรค ได้แก่
1. กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
2. กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะโรคปอดบวมนั้นมีอันตรายอาจถึงชีวิตได้ ควรระวังในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง
3. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ โรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู ดังนั้นช่วงระยะเวลาที่น้ำท่วมควรหารองเท้าใส่เพื่อไม่ให้เกิดบาดแผล เมื่อขึ้นที่แห้งต้องล้างเท้า หรือเช็ดให้แห้ง
4. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงที่สำคัญสามโรค ได้แก่ ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ไข้สมองอักเสบเจอี มียุงรำคาญซึ่งมักแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำในทุ่งนาเป็นตัวนำโรค และโรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ทั้งสามโรคนี้หลังน้ำท่วมควรขจัดแหล่งเพาะพันธ์ุยุงที่มีน้ำขัง
5. กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา โดยเฉพาะโรคตาแดง เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ดูจากภูมิศาสตร์แล้วนอกจากการรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ตามปกติแล้วจะต้องเป็นทางผ่านของน้ำที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างตามแต่สภาพพื้นที่ และศักยภาพการป้องกันรวมถึงการระบายน้ำ จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประชาชนต้องระวัง
การป้องกันเฝ้าระวัง รวมถึงการให้การรักษาก็ดำเนินการตามแผนปกติทุก ๆ ปีตามช่วงเวลาระบาดของโรค แต่ในปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มเข้าสู่สภาวะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ กทม.ต้องตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรคที่มาจากน้ำขึ้น ที่สำนักอนามัย (สนอ.) เพื่อติดตามสถานการณ์การเข้ารักษาโรคที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมทั้งพื้นที่
ส่วนอีกหนึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เพราะในช่วงน้ำท่วม ประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การรับประทานอาหาร การขับถ่าย ค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบากทำให้ไม่ค่อยถูกสุขลักษณะเท่าที่ควร อีกทั้งหลังน้ำลดระดับลงการหมักหมมของขยะและสิ่งปฏิกูลในช่วงน้ำท่วมก็จะเริ่มเน่าเหม็นและมีการแพร่เชื้อโรค เข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว”
ดังนั้นการดูแลรักษาประชาชนจะต้องกลับมารุกหนักหลังภาวะน้ำลดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สุขภาพประชาชนกลับมาอยู่ในสภาวะปลอดภัยเช่นเดิม
ใช่ว่าการสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ จะหายไปกับสายน้ำเมื่อยามที่ลดไป แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ สิ่งที่น้ำได้ทิ้งไว้ให้ ถ้าเป็นทางด้านกายภาพ หรือวัตถุนั้น เราซ่อมสร้างมันได้ แต่สิ่งที่บอบช้ำมากกว่าคือสภาพจิตใจและร่างกายที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูที่นานกว่า เพื่อให้กลับมาเหมือนเดิม และคำกล่าวที่ว่า “การไม่เป็นโรคคือลาภอันประเสริฐ” นั้นคงจะจริงเป็นที่สุด เพราะเมื่อสภาพร่างกายพร้อมก็สามารถสร้างสิ่งที่หายไปขึ้นมาใหม่ได้.
บานเย็น แม่นปืน/รายงาน
นสพ.เดลินิวส์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 Response to "'โรคภัยที่มากับสายน้ำ'ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น-ช่วงน้ำลดยิ่งหนักกว่า'"
แสดงความคิดเห็น